ผู้เขียน

ดูทั้งหมด

บทความ โดย Bill Crowder

แตกหักอย่างงดงาม

ในที่สุดรถโดยสารของเราก็มาถึงจุดหมายปลายทางที่เราตั้งหน้าตั้งตาคอยคือที่แหล่งขุดค้นทางโบราณคดีในอิสราเอล ที่ซึ่งเราจะได้ลองทำการขุดค้นดูจริงๆ ผู้ควบคุมหลุมขุดค้นอธิบายว่า ทุกสิ่งที่เราอาจขุดเจอนั้นไม่มีใครแตะต้องมานานนับพันปี การขุดพบเศษเครื่องปั้นดินเผาที่แตกหักทำให้เรารู้สึกราวกับได้สัมผัสกับประวัติศาสตร์ หลังจากเวลาผ่านไประยะหนึ่ง เราก็ถูกพาไปยังจุดซึ่งใช้ประกอบชิ้นส่วนของแจกันเก่าแก่ใบใหญ่เข้าด้วยกัน

นี่เป็นภาพที่ชัดเจน ช่างฝีมือที่นำชิ้นส่วนแตกหักของเครื่องปั้นดินเผาอายุหลายร้อยปีมาประกอบเข้าด้วยกันนั้น เป็นภาพที่งดงามของพระเจ้าผู้ทรงรักที่จะซ่อมแซมสิ่งที่แตกหักขึ้นมาใหม่ ในสดุดี 31:12 ดาวิดกล่าวว่า “เขาลืม
ข้าพระองค์เสียประหนึ่งว่าเป็นคนตายแล้ว ข้าพระองค์เหมือนอย่างภาชนะที่แตก” แม้จะไม่ได้บอกถึงช่วงเหตุการณ์ที่เขียนเพลงสดุดีบทนี้ แต่ความยากลำบากในชีวิตของดาวิดมักถูกถ่ายทอดออกมาเป็นเพลงคร่ำครวญเช่นเดียวกับเพลงบทนี้ ซึ่งบรรยายถึงการที่ท่านถูกทำให้แตกสลายด้วยภยันตราย ศัตรู และความสิ้นหวัง

แล้วท่านหันไปขอความช่วยเหลือจากที่ใด ในข้อ 16 ดาวิดร้องทูลพระเจ้าว่า “ขอพระพักตร์พระองค์ทอแสงบนผู้รับใช้ของพระองค์ ขอทรงช่วยข้าพระองค์ให้รอดด้วยความรักมั่นคงของพระองค์”

พระเจ้าผู้ซึ่งดาวิดไว้วางใจ คือองค์เดียวกันกับผู้ที่ยังคงซ่อมแซมสิ่งที่แตกหักในปัจจุบัน ขอเพียงเราเรียกหาพระองค์และวางใจในความรักมั่นคงของพระองค์

ใจขอบพระคุณ

ครั้งหนึ่งเซเนกา นักปรัชญาผู้ยิ่งใหญ่ในยุคโรมัน (ก่อน ค.ศ.4-ค.ศ.65) ถูกจักรพรรดินีเมซซาลิน่ากล่าวหาว่าล่วงประเวณี สภาตัดสินโทษประหารชีวิต แต่จักรพรรดิคลอดิอุสกลับเนรเทศเขาไปที่คอร์ซิกา อาจเพราะพระองค์สงสัยว่าข้อกล่าวหานั้นไม่จริง การลดโทษครั้งนี้อาจหล่อหลอมมุมมองของการสำนึกในบุญคุณของเซเนกา เมื่อเขาเขียนว่า “ฆาตกร ทรราชย์ ขโมย คนล่วงประเวณี โจร คนไร้ศีลธรรม และคนทรยศนั้นมีอยู่เสมอ แต่สิ่งที่เลวร้ายกว่าคนเหล่านี้คือ อาชญากรรมแห่งการไม่สำนึกบุญคุณ”

อัครทูตเปาโลซึ่งอยู่ในยุคเดียวกับเซเนกาอาจเห็นด้วย ในโรม 1:21 ท่านเขียนว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มนุษยชาติล่มสลาย คือพวกเขาปฏิเสธที่จะขอบคุณพระเจ้า ในจดหมายที่เขียนถึงคริสตจักรในโคโลสี ท่านท้าทายเพื่อนผู้เชื่อให้ขอบพระคุณถึงสามครั้ง โดยบอกว่าเราจะต้อง “บริบูรณ์ด้วยการขอบพระคุณ” (คส.2:7) ขณะที่เราให้สันติสุขของพระเจ้า “ครองจิตใจของ[เรา]” เราต้องตอบสนองด้วยใจขอบพระคุณ (3:15 TNCV) ที่จริงแล้ว การขอบพระคุณควรเป็นคุณลักษณะของคำอธิษฐานของเรา (4:2)

พระเมตตายิ่งใหญ่ที่พระเจ้ามีต่อเราเตือนเราถึงความจริงอันยิ่งใหญ่ของชีวิต พระองค์ไม่เพียงสมควรได้รับความรักและการนมัสการจากเรา แต่ยังสมควรได้รับใจขอบพระคุณจากเราด้วย สิ่งดีในชีวิตทุกอย่างมาจากพระองค์ (ยก.1:17)

เพราะสิ่งสารพัดที่เราได้รับในพระคริสต์ การสำนึกในพระคุณจึงควรเป็นธรรมชาติเหมือนกับการหายใจ ขอให้เราตอบสนองต่อของประทานแห่งพระคุณของพระเจ้าด้วยการแสดงออกถึงใจขอบพระคุณต่อพระองค์

รู้แจ้งได้โดยพระวิญญาณ

เมื่อทหารฝรั่งเศสนายหนึ่งขุดหลุมในทะเลทรายเพื่อเสริมแนวป้องกันของค่ายทหาร เขาไม่เคยคิดว่าจะเป็นการค้นพบครั้งสำคัญ ขณะกดพลั่วเข้าไปในทราย เขาพบหินก้อนหนึ่ง ที่ไม่ใช่ก้อนหินทั่วไป แต่มันคือศิลาจารึกโรเซตต้า ซึ่งจารึกกฎหมายและการปกครองของฟาโรห์ปโตเลมีที่ 5 ไว้ถึงสามภาษา ศิลานั้น (ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์อังกฤษ) เป็นหนึ่งในการค้นพบทางโบราณคดีที่สำคัญที่สุดในศตวรรษที่ 19 ซึ่งช่วยไขความลึกลับของอักษรอียิปต์โบราณที่เรียกว่า อักษรเฮียโรกลิฟฟิค

สำหรับพวกเราหลายคน เนื้อหาส่วนใหญ่ของพระคัมภีร์ยังคงเป็นปริศนาเช่นกัน แม้กระนั้นในคืนก่อนการถูกตรึงที่กางเขน พระเยซูสัญญากับผู้ที่ติดตามพระองค์ว่าจะทรงส่งพระวิญญาณบริสุทธิ์มา พระองค์ตรัสว่า “เมื่อพระวิญญาณแห่งความจริงจะเสด็จมาแล้ว พระองค์จะนำท่านทั้งหลายไปสู่ความจริงทั้งมวล เพราะพระองค์จะไม่ตรัสโดยพลการ แต่พระองค์จะตรัสสิ่งที่พระองค์ทรงได้ยิน และพระองค์จะทรงแจ้งให้ท่านทั้งหลายรู้ถึงสิ่งเหล่านั้นที่จะเกิดขึ้น” (ยน.16:13) อีกนัยหนึ่งคือพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเป็นศิลาจารึกโรเซตต้าอันศักดิ์สิทธิ์ของเรา ที่ส่องสว่างให้เห็นความจริงรวมถึงความจริงที่อยู่ภายใต้ความล้ำลึกของพระคัมภีร์

แม้จะไม่ได้ทรงสัญญาว่าจะให้เราเข้าใจทุกสิ่งที่ทรงมอบไว้ให้กับเราในพระคัมภีร์ แต่เราก็มั่นใจได้ว่าโดยพระวิญญาณเราสามารถรู้อย่างชัดแจ้งถึงสิ่งที่จำเป็นสำหรับเราในการติดตามพระเยซู พระองค์จะทรงนำเราไปสู่ความจริงที่สำคัญเหล่านั้น

จดจำและเฉลิมฉลอง

วันที่ 6 ธันวาคม 1907 แรงระเบิดสั่นสะเทือนชุมชนเล็กๆในรัฐเวสต์เวอร์จิเนียเป็นหายนะร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมเหมืองถ่านหิน ชาวเหมือง 360 คนเสียชีวิต และประมาณการว่าโศกนาฏกรรมนี้ทำให้มีหญิงม่ายประมาณ 250 คนและเด็กนับพันที่ไร้พ่อ นักประวัติศาสตร์กล่าวว่างานไว้อาลัยครั้งนั้นคือที่มาของการเฉลิมฉลองวันพ่อในสหรัฐในเวลาต่อมา ความสูญเสียครั้งใหญ่ก่อให้เกิดการจดจำและการเฉลิมฉลองในที่สุด

โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษย์เกิดขึ้นเมื่อมนุษย์ตรึงองค์พระผู้สร้างของพวกเขาที่กางเขน กระนั้น ช่วงเวลาที่มืดมนนั้นก็นำมาซึ่งการจดจำและการเฉลิมฉลอง คืนก่อนที่จะทรงถูกตรึง พระเยซูหยิบของในเทศกาลปัสกาของอิสราเอลมาและจัดให้มีการฉลองเพื่อระลึกถึงพระองค์เอง บันทึกของลูกาบรรยายไว้อย่างนี้ว่า “พระ​องค์​ทรง​หยิบ​ขนม​ปัง โมทนา​พระ​คุณ แล้ว​หัก​ส่ง​ให้แก่​เขา​ทั้ง​หลาย ตรัส​ว่า “นี่​เป็น​กาย​ของ​เราซึ่ง​ได้​ให้​สำหรับ​ท่าน​ทั้ง​หลาย จง​กระทำ​อย่าง​นี้​ให้​เป็น​ที่​ระลึก​ถึง​เรา” (ลก.22:19)

จนถึงทุกวันนี้ ทุกครั้งที่เรารับศีลมหาสนิท เราก็ได้ถวายเกียรติให้กับความรักยิ่งใหญ่ของพระองค์ที่มีต่อเรา โดยการระลึกถึงราคาที่ทรงจ่ายเพื่อช่วยกู้เราและเฉลิมฉลองของประทานแห่งชีวิตจากการเสียสละของพระองค์ ตามที่ชาร์ลส์ เวสลีย์เขียนไว้ในเพลงนมัสการว่า “ความรักประหลาดเป็นได้อย่างไร ที่ผู้ไถ่วายพระชนม์เพื่อข้า”

ความหวังในความเศร้าโศก

ในขณะที่คนขับแท็กซี่พาเราไปสนามบินฮีทโธรว์ของลอนดอน เขาเล่าเรื่องของตัวเองว่าเขาย้ายมาสหราชอาณาจักรตอนอายุสิบห้าเพื่อหนีจากสงครามและความยากไร้ สิบเอ็ดปีผ่านไปตอนนี้เขามีครอบครัวแล้วและสามารถเลี้ยงดูพวกเขาได้อย่างที่ไม่อาจทำได้ในประเทศบ้านเกิด แต่เขาเสียใจที่ยังคงแยกจากพ่อแม่และพี่น้อง เขาบอกเราว่าเขามีเส้นทางชีวิตที่ยากลำบากซึ่งจะไม่สิ้นสุดลงจนกว่าเขาจะได้อยู่พร้อมหน้ากับครอบครัวอีกครั้ง

การต้องแยกจากคนที่รักเมื่อยังมีชีวิตเป็นเรื่องที่ยาก แต่การสูญเสียคนที่รักไปเพราะความตายเป็นสิ่งที่ยากกว่ามาก และทำให้เกิดความรู้สึกสูญเสียที่ไม่มีวันแก้ไขได้จนกว่าเราจะได้อยู่กับพวกเขาอีกครั้ง เมื่อผู้เชื่อใหม่ในเมืองเธสะโลนิกาสงสัยเรื่องความสูญเสียนี้ เปาโลจึงเขียนถึงพวกเขาว่า “ดูก่อนพี่น้องทั้งหลาย เราไม่อยากให้ท่านไม่ทราบความจริงเรื่องคนที่ล่วงหลับไปแล้ว เพื่อท่านจะไม่เป็นทุกข์โศกเศร้าอย่างคนอื่นๆที่ไม่มีความหวัง” (1 ธส.4:13) ท่านอธิบายว่าในฐานะผู้เชื่อในพระเยซู เรามีชีวิตอยู่โดยความคาดหวังถึงการพบกันอันแสนวิเศษอีกครั้ง และอยู่ร่วมกันต่อพระพักตร์พระคริสต์ตลอดไปเป็นนิตย์ (ข้อ 17)

มีเพียงไม่กี่ประสบการณ์ที่สร้างความเจ็บปวดได้เท่ากับการจากลาที่เราเผชิญ แต่เรามีความหวังในพระเยซูที่จะพบกันอีก และในท่ามกลางความเจ็บปวดและสูญเสีย เราจะพบการปลอบโยนที่เราต้องการจากพระสัญญาอันเป็นนิรันดร์ (ข้อ 18)

ชีวิตแห่งสันติสุข

ในเมืองเพิร์ท ออสเตรเลียมีสถานที่หนึ่งชื่อบ้านชาโลมที่ให้การช่วยเหลือผู้ชายที่มีอาการเสพติด ที่บ้านนี้พวกเขาจะได้พบเจ้าหน้าที่ดูแลซึ่งจะแนะนำพวกเขาให้รู้จักกับพระเจ้าแห่ง ชาโลม (ภาษาฮีบรู แปลว่า สันติสุข) ชีวิตที่ถูกทำลายจากการเสพติดยา เหล้า การพนัน และพฤติกรรมอื่นๆที่ทำลายชีวิต จะได้รับการเปลี่ยนแปลงโดยความรักของพระเจ้า

ศูนย์กลางของการเปลี่ยนแปลงนี้คือข่าวสารแห่งไม้กางเขน ผู้คนที่แตกสลายในบ้านชาโลมค้นพบว่า การฟื้นพระชนม์ของพระเยซูทำให้ชีวิตของพวกเขารับการฟื้นฟูได้ ในพระคริสต์นั้นพวกเราได้รับสันติสุขและการรักษาที่แท้จริง

การมีสันติสุขไม่ใช่เพียงแค่การไร้ซึ่งความขัดแย้ง แต่คือการทรงสถิตอยู่อย่างสมบูรณ์ของพระเจ้า เราทุกคนต้องการ ชาโลม นี้ ซึ่งจะพบได้ในพระคริสต์และพระวิญญาณของพระองค์เท่านั้น นี่คือเหตุผลที่เปาโลชี้ให้ชาวกาลาเทียเห็นถึงงานแห่งการเปลี่ยนแปลงของพระวิญญาณ ขณะที่พระวิญญาณทรงทำงานในชีวิตเรา พระองค์ทรงทำให้เกิดผลซึ่งรวมถึงความรัก ความชื่นชมยินดี ความอดทนและอื่นๆ (กท.5:22-23) พระองค์ทรงประทานองค์ประกอบสำคัญของสันติสุขที่แท้จริงและยั่งยืนแก่เรา

ขณะที่พระวิญญาณทรงทำให้เราสามารถมีชีวิตในชาโลมของพระเจ้า เราก็ได้เรียนรู้ที่จะวางความต้องการและความกังวลของเราต่อพระบิดาแห่งฟ้าสวรรค์ และเราจะได้รับ “สันติสุขแห่งพระเจ้าซึ่งเกินความเข้าใจ” ซึ่ง “จะคุ้มครองจิตใจ และความคิดของท่านไว้ในพระเยซูคริสต์” (ฟป.4:7)

ในพระวิญญาณของพระคริสต์ หัวใจของเราสามารถสัมผัส ชาโลม ที่แท้จริง

น้ำในที่ที่เราต้องการ

ที่ทะเลสาบไบคาลซึ่งเป็นทะเสสาบที่ลึกที่สุดในโลก มีขนาดกว้างใหญ่และงดงามมาก มีความลึก 1.6 กม.และกว้าง 79 กม. ยาว 636 กม. จุน้ำจืดถึงหนึ่งในห้าของน้ำจืดบนผิวดินทั้งหมดในโลก แต่พื้นที่ส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงได้ ทะเลสาบไบคาลอยู่ในไซบีเรียซึ่งเป็นเขตที่อยู่ห่างไกลที่สุดแห่งหนึ่งของรัสเซีย ในขณะที่น้ำเป็นที่ต้องการอย่างมากในหลายพื้นที่ในโลก ช่างน่าขันที่แหล่งน้ำขนาดใหญ่เช่นนี้กลับซ่อนอยู่ในสถานที่ซึ่งมีเพียงคนจำนวนไม่มากเข้าถึงได้

แม้ทะเลสาบไบคาลจะอยู่ห่างไกล แต่ยังมีแหล่งน้ำที่ให้ชีวิตอีกแหล่งซึ่งพร้อมให้ผู้ที่มีความต้องการมากที่สุดเข้าถึงได้ เมื่ออยู่ที่บ่อน้ำในสะมาเรียนั้นพระเยซูทรงสนทนากับหญิงคนหนึ่ง เพื่อค้นหาความหิวกระหายฝ่ายวิญญาณลึกๆของเธอ ทางออกสำหรับสิ่งที่ใจเธอต้องการนั้นก็คือพระเยซู

พระเยซูทรงหยิบยื่นสิ่งที่ดีกว่าให้ ซึ่งตรงข้ามกับน้ำที่เธอมาตักจากบ่อ “ทุกคน​ที่​ดื่ม​น้ำ​นี้​จะ​กระหาย​อีก​ แต่​ผู้​ที่​ดื่ม​น้ำ​ซึ่ง​เรา​จะ​ให้แก่​เขา​นั้น จะ​ไม่​กระหาย​อีก​เลย น้ำ​ซึ่ง​เรา​จะ​ให้​เขา​นั้น จะ​บังเกิด​เป็น​บ่อ​น้ำพุ​ใน​ตัว​เขา​พลุ่ง​ขึ้น​ถึง​ชีวิต​นิรันดร์” (ยน.4:13-14)

มีหลายสิ่งหลายอย่างที่สัญญาว่าจะทำให้เราพึงพอใจแต่ไม่สามารถดับความกระหายในใจของเราได้ มีเพียงพระเยซูเท่านั้นที่ทรงทำให้จิตวิญญาณที่หิวกระหายของเราอิ่มเอมได้ และแหล่งน้ำของพระองค์มีพร้อมสำหรับทุกคนไม่ว่าในที่แห่งใด

สิ่งที่มองไม่เห็น

นักประวัติศาสตร์กล่าวว่า ยุคปรมาณูเริ่มต้นเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 1945 เมื่ออาวุธนิวเคลียร์ชิ้นแรกถูกจุดชนวนในทะเลทรายที่ไกลโพ้นของนิวเม็กซิโก แต่นักปรัชญาชาวกรีกเดโมคริตัส (ราว 460-370 ปีก่อนคริสตศักราช) ได้สำรวจการดำรงอยู่และพลังของอะตอมมานานก่อนที่จะมีการประดิษฐ์เครื่องมือเพื่อช่วยให้มองเห็นองค์ประกอบเล็กๆของจักรวาลนี้ได้ เดโมคริตัสเข้าใจมากกว่าที่เขาเห็นและทฤษฎีอะตอมก็เป็นผลจากความเข้าใจนั้น

พระคัมภีร์บอกเราว่า แก่นแท้ของความเชื่อคือการโอบกอดสิ่งที่มองไม่เห็น ฮีบรู 11:1 ยืนยันว่า “ความเชื่อคือความแน่ใจในสิ่งที่เราหวังไว้ เป็นความรู้สึกมั่นใจว่า สิ่งที่ยังไม่ได้เห็นนั้นมีจริง” ความมั่นใจนี้ไม่ได้เป็นผลมาจากความปรารถนาหรือความคิดเชิงบวก หากแต่เป็นความเชื่อมั่นในพระเจ้าที่เรามองไม่เห็น ซึ่งการดำรงอยู่ของพระองค์เป็นความจริงที่เที่ยงแท้ที่สุดในจักรวาลความจริงของพระองค์ปรากฏอยู่ในสรรพสิ่งที่พระองค์ทรงสร้าง (สดด.19:1) พระเจ้าทรงเปิดเผยพระลักษณะและวิถีทางที่มองไม่เห็นของพระองค์ให้เราเห็นในพระเยซูองค์พระบุตร ผู้เสด็จมาเพื่อสำแดงความรักของพระบิดาต่อเรา (ยน.1:18)

นี่คือพระเจ้าผู้ที่ “เรามีชีวิตและไหวตัวและเป็นอยู่ในพระองค์” ตามที่อัครทูตเปาโลกล่าวไว้ (กจ.17:28) เพราะ “เราดำเนินโดยความเชื่อ มิใช่ตามที่ตามองเห็น” (2 คร.5:7) กระนั้นเราไม่ได้เดินเพียงลำพัง พระเจ้าที่เรามองไม่เห็นทรงดำเนินไปกับเราในทุกย่างก้าวบนเส้นทางนี้

ราคาที่ต้องจ่าย

ผลงานของไมเคิลแองเจโลหลายชิ้นแสดงถึงชีวิตของพระเยซูในด้านต่างๆ แต่หนึ่งในผลงานสะเทือนอารมณ์ที่สุดก็ดูเรียบง่ายที่สุดด้วย ในทศวรรษที่ 1540 เขาได้ร่างภาพปีเอต้า (ภาพนางมารีย์ที่ประคองร่างไร้ชีวิตของพระคริสต์)ให้กับเพื่อนชื่อวิททอเรีย โคลอนนา ภาพนี้วาดด้วยชอล์คเป็นรูปนางมารีย์มองที่สวรรค์ขณะประคองร่างของบุตรชายที่นอนแน่นิ่ง ด้านหลังเป็นไม้กางเขนมีข้อความจากวรรณกรรมเรื่องแดนสวรรค์ของดังเต้ว่า “พวกเขาไม่คิดว่าพระองค์ทรงจ่ายราคาด้วยพระโลหิตไปมากแค่ไหนที่นั่น”ประเด็นของไมเคิลแองเจโลนั้นลึกซึ้งคือ เมื่อเราคิดถึงการสิ้นพระชนม์ของพระเยซู เราต้องคิดถึงราคาที่พระองค์ได้ทรงจ่าย

ราคาที่พระคริสต์จ่ายนั้นบันทึกไว้ในคำประกาศก่อนจะทรงสิ้นพระชนม์ว่า “สำเร็จแล้ว” (ยน.19:30) คำว่า “สำเร็จแล้ว” (tetelestai) ถูกใช้กับหลายอย่าง ทั้งเพื่อแสดงว่าชำระเงินแล้ว งานเสร็จแล้ว ถวายเครื่องบูชาแล้ว ทำผลงานชิ้นเอกเสร็จแล้ว ทุกความหมายนี้ใช้ได้กับสิ่งที่พระเยซูทรงทำแทนเราบนไม้กางเขน! นี่คงเป็นสาเหตุที่เปาโลเขียนว่า “แต่ข้าพเจ้าไม่ต้องการอวด นอกจากเรื่องกางเขนของพระเยซูคริสตเจ้าของเรา ซึ่งโดยกางเขนนั้นโลกตรึงไว้แล้วจากข้าพเจ้า และข้าพเจ้าก็ตรึงไว้แล้วจากโลก” (กท.6:14)

การที่พระเยซูเต็มใจรับสภาพแทนเราถือเป็นหลักฐานนิรันดร์ว่าพระเจ้าทรงรักเรามากเพียงใด เมื่อเราใคร่ครวญถึงราคาที่พระองค์ทรงจ่ายไป ขอให้เราเฉลิมฉลองถึงความรักของพระองค์และขอบพระคุณสำหรับกางเขนนั้น

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา